มรกต เป็นแร่รัตนชาติหรืออัญมณี สีเขียวเกิดจากธาตุโครเมียมและวานาเดียม มรกตจัดอยู่ในแร่ตระกูลเบริล ซึ่งเบริลเป็นแร่ที่มีหลายวาไรตี ได้แก่ แอควะมะรีน (aquarmarine) มีสีฟ้า โกลเดนเบริลหรือเฮลิโอดอร์มีสีเหลือง สีแดงเรียกเร็ดเบริล สีชมพูเรียกว่ามอร์แกไนต์ คุณภาพของมรกตอยู่ที่สีหากมีสีเขียวทั่วทั้งเม็ดก็จัดว่าคุณภาพสูง ส่วนตำหนินั้นมรกตธรรมชาติทุกชิ้นจะต้องมีทั้งสิ้น ลักษณะเป็นเส้น ริ้วสีขาว จุดสีดำ สีสนิม ฝ้าขาวขุ่นตามธรรมชาติ รอยริ้วที่ดูคล้ายรากผักชีเรียกว่า “สวน” (jardin)

มรกตคุณภาพดีหรือไม่ดีก็มีทั้งสิ้น แต่พิจารณาปริมาณและการวางตัวของตำหนิ (ต้องเลือกที่ไม่มีตำหนิต่อเนื่องราวมาจนถึงหน้าพลอย หรือจากขอบหนึงไปถึงขอบหนึ่ง เพราะจะมีผลต่อการนำไปใช้ อาจไม่คงทน) ซึ่งอาจจะมีผลกับการส่องประกายแสงออกมาจากมรกต หากมีมากไปพลอยจะดูทึบแสง ไม่มีประกายซึ่งมักได้รับการเจียระไนแบบหลังเบี้ยหรือหลังเต่า หากทึบจนตันแสงไม่ส่องผ่านเลยและมีสีเขียวซีดจะจัดเป็นมรกตคุณภาพต่ำที่สุด มรกตมีการทำเลียนแบบ สังเคราะและปรับปรุงคุณภาพ (อาบนำมันบ้าง ชุบสี ซ่านสี เคลื่อบสี แช่สารเคมีเฉพาะ) ดังนั้นจึงควรตรวจสอบก่อนการซื้อเพราะจัดเป็นพลอยที่มีราคาสูงมาก (ถ้าคุณภาพดีมากและขนาดใหญ่ด้วยแล้ว) บางกรณีนั้นแยกแทบไม่ออกด้วยตาเปล่าต้องส่งห้องปฏิบัติการที่น่าเชื่อถือช่วยตรวจสอบ

มรกตนั้นมีหลายเฉดสี แหล่งที่สำคัญมากและโด่งดังไปทั่วโลกคือ มรกตจากโคลอมเบีย ซึ่งได้รับการยกย่องว่างามที่สุดในโลกราคามักสูงกว่าแหล่งอื่น ๆ และถูกกล่าวอ้างถึงบ่อย ๆ มีเหมืองสำคัญซึ่งผลิตมรกตสีต่างกันคือ เหมืองชิบอร์ (Chivor) มีมรกตสีเขียวสดอมเหลือง และเหมืองมูโซ (Muzo) ให้มรกตสีเขียวอมฟ้าคล้ายสีของน้ำทะเล การดูแลรักษาไม่ควรใส่ทำงานหนัก เพราะทนแรงกระแทกได้ไม่ดีนักมีความเปราะ หลีกเลี่ยงสารเคมี น้ำหอม และสเปรย์แต่งผม

มรกต เป็นหนึ่งในประเภทพลอยเบริลที่มีสีเขียว เป็นพลอยที่ไม่ค่อยสะอาด เพราะมีมลทินภายในค่อนข้างมาก แต่เป็นที่นิยมมากกว่าพลอยเบริลชนิดอื่นๆ แต่เนื่องด้วยมีสีเขียวสดที่สวยงามและหาที่มีคุณภาพดียาก จึงทำให้มรกตมีราคาสูงกว่าเบริลชนิดอื่น บางเม็ดที่มีคุณภาพดีราคาอาจใกล้เคียงกับเพชร

มรกตเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ ร่ำรวย ร่มเย็น เป็นอัญมณีประจำเดือนพฤษภาคมและครบรอบแต่งงานปีที่ 20 และ 35 มรกตเป็นส่วนหนึ่งในแก้วนพรัตน์ ที่มีความหมายถึงดาวพุธ จึงเป็นพลอยมงคลสำหรับผู้ที่เกิดในวันพุธ ซึ่งจะทำให้ผู้สวมใส่อยู่ยงคงกระพัน สามารถป้องกันอาวุธต่างๆและอุบัติเหตุ ส่วนผู้ที่เกิดในวันเสาร์ควรหลีกเลี่ยงที่จะสวมใส่มรกตเนื่องจากพลอยสีเขียวเป็นกาลกิณี

ในความหมายทางด้านสรีระ มรกตเป็นแร่ธรรมชาติที่ช่วยบำรุงสายตา และในความหมายทางด้านพลังจิต มรกตช่วยส่งเสริมการมองเห็นภาพแห่งอนาคต เชื่อกันว่ารักษาโรคบิดและเป็นยาระบายได้ ขณะสร้างความสัมพันธ์ทางความรักนั้น มรกตเผยถึงความจริงใจในคำมั่นสัญญาที่ชายหนุ่ม-หญิงสาวได้ให้ไว้ต่อกัน มันจะร้าวรานถ้าผิดคำสัญญาที่ได้ให้ไว้ต่อกัน

แหล่งและกระบวนการเกิดมรกต

มรกตมีลักษณะการเกิดที่หลากหลายน่าสนใจ หลายคนคิดว่ามรกตต้องมาจาก โคลัมเบีย แซมเบีย หรือ บราซิล แต่แท้จริงแล้วมรกตมีอยู่ทั่วทุกทวีปแต่ที่ใดจะเป็นแหล่งสำคัญนั้น ขึ้นอยู่กับความสวยงาม ขนาด และปริมาณ ลักษณะการเกิดของมรกตจะขึ้นอยู่กับภูมิประเทศต่างๆ เช่นมรกตของโคลัมเบียพบอยู่ในหินปูน หรือหินดินดานสีเข้ม (รูปที่ 5) และอาจพบผลึกมรกตปะปนร่วมกับแร่ไพไรต์ (รูปที่ 6) แต่ส่วนใหญ่พบในหินแกรนิตและสายแร่เพกมาไทต์ นอกจากนี้ยังพบในหินแปรจำพวกไมกาชีสต์ ซึ่งมีแร่ดีบุกปนอยู่ด้วย

กระบวนการเกิดมรกตมีลักษณะพิเศษเฉพาะซึ่งต้องอาศัยสภาพแวดล้อมทางธรณีวิทยา และ ทางธรณีเคมีที่เหมาะสมซึ่งจะนำเอาธาตุโครเมียมและ/หรือ วานาเดียม มาพบกับธาตุเบริลเลียม ซึ่งมีเพียงไม่กี่แหล่งในโลกที่เกิดสภาวะแวดล้อมดังกล่าว โดยทั่วไปแล้วหินต้นกำเนิดจะต้องมีความสามารถในการทำให้เกิดการเคลื่อนที่หมุนเวียนของธาตุ ซึ่งเมื่อถูกกระตุ้นด้วยกิจกรรมทางธรณีวิทยา เช่น การเคลื่อนที่ของเปลือกโลก ซึ่งส่งผลให้แผ่นเปลือกโลกเกิดการแตกหัก เกิดรอยเลื่อน เกิดการคดโค้ง โก่งงอ ซึ่งส่งผลให้มีการเคลื่อนที่ของของเหลวในระบบ มาตามแนวรอยแตกซึ่งจะนำพาธาตุต่าง ๆ ที่เหมาะสมในการเกิดมรกตจากหินต้นกำเนิดมาพบกัน

มรกตนั้นสามารถเกิดการตกผลึกได้ในหลายลักษณะทั้งในหินชิสท์ หินไนส์ และ หรือในข่องว่างต่างๆ หรือในควอตซ์เลนส์ ตามแนวรอยแตกและรอยเลื่อนต่าง ๆ

การปรับปรุงคุณภาพ

มรกตจัดเป็นพลอยที่มีการปรับปรุงคุณภาพมากที่สุดเนื่องจากมีลักษณะรอยแตกภายในค่อนข้างมาก จึงนิยมใส่สารเพื่อช่วยบดบังรอยแตกนั้นๆ ได้แก่ น้ำมันพืช น้ำมันจากแร่ หรือแม้แต่น้ำมันหล่อลื่น โดยสารพวกนี้จะซึมเข้าไปในรอยแตก นอกจากนี้ยังมีสารที่มาจาก ยางสนธรรมชาติที่เรียกว่า Canada balsam ซึ่งมีค่าดัชนีหักเหใกล้เคียงกับมรกต ส่วน Cedar wood oil และสารจากธรรมชาติอื่นๆที่มีค่าดัชนีหักเหพอๆกันจะมีราคาแพงกว่า เราอาจมองไม่เห็นสารที่ว่านี้แม้ใช้กล้องจุลทรรศน์ที่มีกำลังขยายสูงๆ

Showing all 2 results

Show sidebar