ไพลิน คอรันคัมทุกสี ยกเว้นสีแดง จะเรียกว่าแซปไฟร์ สีต่างๆ ของแซปไฟร์ สามารถ นำมาใช้เรียกเป็นชื่อชนิดอื่นได้ เช่น แซปไฟร์สีเหลือง (บุษราคัม) แซปไฟร์สีเขียว (เขียวส่อง เขียวมรกต) แซปไฟร์สีน้ำเงิน (ไพลิน) แซปไฟร์สีส้มอมชมพู (แพดพาแรดชา) เป็นต้น สีต่างๆ ของแซปไฟร์เกิดจากธาตุชนิดต่างๆ สีน้ำเงินของไพลิน เกิดจากธาตุเหล็ก และไททาเนียม สีของไพลิน ที่ถือว่าสวยงาม ที่สุดคือ สีน้ำเงินเข้มสด และมีสีม่วงอมเล็กน้อย มีความมืดสว่างปานกลาง ไพลินจัดเป็น แซปไฟร์ ที่ได้รับความนิยมมาก ทำให้ค่อนข้างมีราคาสูง รองลงมาเป็นบุษราคัม เขียวส่อง ส่วนชนิดแซปไฟร์สีอื่นๆ จัดเป็นรัตนชาติสำหรับการสะสมก็ว่าได้ แต่ก็หาไม่ได้ง่ายนัก และอาจมีราคาแพงได้เช่นกัน เช่น แพดพาแรดชา แซปไฟร์ สีม่วง สีชมพู เป็นต้น
และก็เช่นเดียวกันกับรัตนชาติชนิดอื่นๆ ที่คุณภาพ คุณค่าราคาขึ้นอยู่กับสี ความสดใสไร้ตำหนิ การเจียระไน และน้ำหนัก แหล่งผลิตแซปไฟร์ที่สำคัญของโลกโดยเฉพาะไพลินในปัจจุบันนี้ได้แก่ ออสเตรเลีย ศรีลังกา ไทย พม่า กัมพูชา แทนซาเนีย
ไพลิน แบ่งออกเป็นระดับทางการค้าได้ 5 ระดับ คือ
1. ไพลินแคชเมียร์ หมายถึงไพลินที่มีสีเหมือนไพลิน ที่มาจากแหล่งแคชเมียร์ ประเทศอินเดีย ซึ่งจัดเป็นแหล่งที่มีไพลิน สีสวยงาม เป็นหนึ่งในอดีต แต่ในปัจจุบันนี้ไม่มีการผลิตจากแหล่งนี้แล้ว แต่ยังคงใช้เป็นชื่อเรียกไพลินจากแหล่งต่างๆ ที่มีสี แบบนี้ว่า “แคชเมียร์แซปไฟร์” สีที่สวยงาม ของแคชเมียร์แซปไฟร์ คือ สีน้ำเงินอมม่วงเล็กน้อยคล้ายกับสีดอกอัญชัน (Cornflower blue) และมองดูมีเนื้อนุ่มนวล เหมือนผ้ากำมะหยี่ มีโทนสีมืดปานกลาง แต่พลอยชนิดนี้ จะไม่โปร่งใส เลยทีเดียว จึงมีผลกระทบต่อความสุกใสประกายแวววาวของพลอยทำให้พลอยดูเหงาซึมเซา ที่จริงแล้วไพลินระดับนี้นานๆ ครั้งจะพบมีขายในท้องตลาด ไพลินจากแหล่งศรีลังกา ไทย พม่า เขมร ก็อาจมีสีนี้ได้เช่นกัน
2. ไพลินพม่า หมายถึงไพลินที่มีสีเหมือนไพลิน จากแหล่งพม่า ซึ่งจัดว่าสวยงามมาก เช่นกัน คุณภาพไพลินระดับพม่านี้ ใช้เป็นระดับคุณภาพ ในการซื้อขายในอเมริกา เป็นส่วนใหญ่ สีที่สวยงามของไพลินพม่าคือ สีน้ำเงินเข้มอมม่วงเล็กน้อย มีโทนสีมืด ปานกลาง เช่นเดียวกับไพลินระดับแคชเมียร์ แต่ไม่มีความนุ่มนวลเหมือนกำมะหยี่ มีสีน้ำเงินเข้ม ที่เรียกว่า สีรอแยลบลู (Royal blue) สีน้ำเงินของไพลินระดับพม่านี้ จัดเป็นสีน้ำเงินที่สวยขรึม แต่จะขาดความสุกใส ประกายมีชีวิตชีวาไปเล็กน้อย ไพลิน จากแหล่งไทย ศรีลังกา เขมร ก็มีสีแบบนี้ได้เช่นกัน
ข้อแตกต่างของไพลินแคชเมียร์และไพลินพม่า คือ ไพลินพม่าไม่มีลักษณะเนื้อนุ่มนวลแบบกำมะหยี่เหมือนไพลินแคชเมียร์
3. ไพลินไทย จัดเป็นไพลินระดับค่อนข้างต่ำ โดยเฉพาะในอเมริกา ถือว่าไพลินที่มีสีเหมือนไพลินไทย จะมีราคาต่ำ สีที่ว่านี้คือ สีน้ำเงินน้ำ ดำมืดเหมือนน้ำหมึก สีค่อนข้างมืด ทำให้พลอยดูดำมืดทั้งเม็ด บ้างครั้ง ก็มีสีเขียวปน แต่บางครั้งอาจมีลักษณะเนื้อเหมือนกำมะหยี่ปนบ้าง สำหรับ ไพลินไทย จากแหล่งกาญจนบุรี ส่วนใหญ่จะมีสีน้ำเงินเข้ม และมีความ ขุ่นขาว เป็นตำหนิปนอยู่ตามโซนสี ทำให้พลอยดู มีประกายวาว มากขึ้น แต่ถ้าลักษณะ ความขุ่นขาวมีมากตลอดทั่วทั้งเม็ดพลอย จะทำให้พลอยนั้น ดูไร้ประกาย หรือด้านมัว ไพลินจากแหล่งกาญจนบุรี มีลักษณะโดยทั่วไปคล้ายไพลินศรีลังกา โดยเฉพาะมีโซนสีหรือแถบสีที่เด่นชัด
4. ไพลินซีลอน จัดเป็นสีน้ำเงินที่สวย มีประกายมีชีวิตชีวา เป็นสีน้ำเงินที่มีความเข้มน้อยกว่าไพลินพม่า ไพลินซีลอน มีโทนสีอ่อนกว่า ไพลินพม่าด้วย ทำให้ดูสุกใสมีประกายกว่า ที่พบสวยเหมือนไพลินแคชเมียร์ก็มี ไพลินซีลอนได้จากพลอยก้อนสีขาวขุ่นเหมือนน้ำนม มีจุดสีน้ำเงิน อยู่ในเนื้อ นำไปเผาจะให้พลอยสีน้ำเงินทั้งสวย และไม่สวย ที่สวยก็นำมาขายเป็นไพลินซีลอน ส่วนที่เผาแล้วไม่สวย ก็จะได้เป็นสีฟ้าอ่อนใส หรือขาวไปเลย ซึ่งไม่ค่อยมีราคานัก เรียกตามภาษาชาวบ้านว่า ไพลินซีลอนเผาไม่ออก
5. ไพลินออสเตรเลีย มีสีน้ำเงินมืดสนิทกว่าไพลินไทย หรือคล้ายไพลินไทย แต่ไม่มีลักษณะเนื้อกำมะหยี่ปนอยู่เลย อาจมีสีเขียวปนบ้าง
จากที่กล่าวมาแล้วนั้น เป็นระดับทางการค้าของไพลิน ซึ่งก็ไม่มีสีอะไรที่แน่นอน ประจำแหล่งเลย เพียงแต่ถ้าเคยพบพลอยสีงามน้ำหนึ่งใน แหล่งนั้น ตามที่กล่าว ข้างต้น ก็จัดให้ชื่อตามระดับคุณภาพทางการค้า ตามชื่อแหล่งนั้น กล่าวคือใช้ ชื่อแหล่งเป็นพื้นฐานแบบอย่างของคุณภาพสีนั่นเอง โดยสรุปแล้ว ระดับทางการค้านั้นใช้สีเป็นตัวประกอบที่สำคัญที่สุด มิได้หมายถึงแหล่งเลย นอกจากนี้ความนิยมชมชอบสีของคนในแต่ละเชื้อชาติ จะแตกต่างกัน แต่สีซึ่งเป็นสีที่คุณภาพดีที่สุดคือ สีน้ำเงินเข้มอมม่วงเล็กน้อย สีโทนสีปานกลาง ไม่มืดมาก และไม่สว่างมากเกินไปบวกกับความสุกใส มีประกายมีชีวิตชีวานั่นเอง
การพิจารณาเลือกซื้อไพลิน
1. สีเป็นสำคัญ ตามมาด้วย มลทิน การเจียระไนและขนาด ให้คำนึงเปรียบเทียบ ถึงความสัมพันธ์ ของตัวประกอบเหล่านี้ ว่าเหมาะสมต่อความสวยงามหรือไม่อย่างไร แต่ถ้าองค์ประกอบเหล่านี้ดีครบ ราคาก็จะแพง ไพลินที่มีสีสวยที่สุดคือ สีน้ำเงินอมม่วง เล็กน้อย โทนสีไม่มืดมาก ปานกลาง มีเนื้อกำมะหยี่ มีความสุกใส มีประกายแวววาวดี ควรดูความสม่ำเสมอของสีด้วย สีที่ไม่สม่ำเสมอในเนื้อพลอย จะทำให้ราคาตกลง ไพลิน ที่มีโทนสีมืด สีมีความเข้มมากเกินไปจนมองดูดำมืด และไพลินที่มีโทนสีสว่างอ่อนเกินไป จะสวยน้อย และมีราคาไม่แพง ดังนั้น ถ้ามีเงินไม่มากนัก ควรเลือกไพลินโทนสี ค่อนข้างสว่าง ความเข้มของสีกำลังดี เพราะราคาจะถูกลง แถมยังทำให้มองดูสวย ภายใต้แสงไฟ เนื่องจากมีความสุกใสกว่าไพลินที่มีโทนสีมืดคล้ำ แต่อย่าเลือกไพลิน โทนสีสว่างโล่งเกินไป หรือความเข้มของสีน้อยเกินไป เพราะจะมองดูไม่สวยสง่า เหมือนไพลินที่มีความเข้มของสีมากกว่า กล่าวคือให้มีความเข้มของสีน้ำเงินอยู่ และมีโทนสีสว่างบ้าง มิใช่เป็นสีน้ำเงินอ่อน จนเป็นสีฟ้า แถมมีโทนสีสว่างด้วย
2. มลทิน ตำหนิ เมื่อสังเกตดูสีจนเป็นที่พอใจแล้วให้ดูว่า ไพลินนั้นสะอาด เมื่อมองด้วยตาเปล่าแล้ว มองเห็นมลทินตำหนิภายใน หรือไม่ ถ้ามองไม่เห็นมลทินด้วยตาเปล่า ก็ถือว่าใช้ได้ ไพลินที่มีมลทินอยู่ภายในเนื้อ เป็นข้อบ่งชี้ว่าเป็นของธรรมชาติ แต่ต้องดูแยกให้ออก ว่าเป็นมลทินธรรมชาติ หรือมลทินสังเคราะห์ (ทำขึ้น) การดูมลทิน มักจะต้องใช้แว่นขยาย 10 เท่าขึ้นไป หรือกล้องจุลทรรศน์ ซึ่งผู้ชำนาญเท่านั้น จึงจะสามารถแยกออกจากกันได้ ว่าเป็นมลทิน ธรรมชาติ หรือมลทินสังเคราะห์ ไพลินธรรมชาติที่ใส สะอาดไร้มลทิน จะหาได้ยากมาก
ดังนั้น ถ้าพบไพลินเช่นนี้ อย่าได้วางใจ มีอยู่ 2 กรณีคือ อาจจะเป็นมลทินขนาดเล็กๆ ซึ่งเป็นมลทินของแท้ ซ่อนตัวอยู่ภายในเนื้อพลอย จนมองไม่เห็น ด้วยตาเปล่า อาจจะต้องใช้แว่นขยาย บวกกับระบบแสงที่ถูกต้องในการตรวจหา หรืออาจจะใสไร้มลทินไปเลย และมองเห็น แต่เส้นโค้งเป็นชั้นบางๆ ซึ่งเป็นไพลินสังเคราะห์ก็ได้ ดังนั้น จึงไม่แนะนำให้ซื้อไพลิน ที่ใสสะอาดไร้มลทิน เพราะหายากมาก นั่นเอง ถึงแม้จะมีก็ราคาแพงมาก แถมอาจจะเจอเอา พลอยสังเคราะห์ด้วย ดังนั้น แทนที่จะจ่ายเงินเพื่อความสวยงาม กลับจ่ายเงิน ด้วยความไม่รู้ เพื่อความหายากซึ่งไม่ควร ตำหนิมลทิน ที่ไม่ถึงกับบดบังความสวยงาม หรือทำให้พลอยแตกร้าว ก็ถือเป็นใช้ได้ นอกจากนี้ ควรเลือกไพลินที่ มีความโปร่งใสหน่อย เพราะจะทำให้พลอยดูมีประกายมีชีวิตชีวาขึ้น
3. การเจียระไน ไพลินที่มีการเจียระไนได้สัดส่วนถูกต้องสวยงาม พร้อมกับ มีการเจียระไน โดยให้การวางตัวของโต๊ะหน้าพลอย ที่จะให้ได้ ไพลินสีสวยที่สุด คือ เจียระไนโดยให้โต๊ะหน้าพลอย วางตัวในทิศทาง ที่จะให้สีน้ำเงินอมม่วง หรือน้ำเงิน ไม่ใช่น้ำเงินอมเขียว รูปร่างของ หน้าพลอย ถ้าเป็นกลม ก็กลมสวย ไม่เบี้ยว ถ้าเป็นทรงไข่ก็ไข่สวย ไม่บิดเบี้ยว มีความสมมาตร มีขอบพลอยขนาดพอดี และมีขนาดก้นพลอย ไม่ยาว หรือสั้นจนเกินไป และฝีมือประณีตในการเจียระไน จะดูได้จาก ลักษณะเหลี่ยมคม ของแต่ละหน้านั้น มีความคมชัดเรียบสวยงาม ไม่แตก ขรุขระ แต่ละหน้าเหลี่ยมพลอย มีรูปร่างดี ไม่บิดเบี้ยวแตกต่างกัน ความสวยงาม ของไพลินจะลดน้อยลงมาก ถ้าขาดการเจียระไนที่ดี
ดังนั้น ควรจะพิจารณาดูอย่างง่ายๆ ว่า ไพลินที่ซื้อนั้น มีก้นพลอยที่ได้ระยะพอดี ไม่ยาว หรือสั้นเกินไปจนดูแปลกตา ลักษณะก้นพลอย และหน้าเหลี่ยมต่างๆ ไม่บิดเบี้ยว มีความสมมาตรดี มีเหลี่ยมเจียระไนคมชัดเจนดี เป็นอันว่าใช้ได้
ข้อควรระวังในการเลือกซื้อไพลิน

1. ให้ระวังพลอยสีน้ำเงิน สีฟ้า โดยที่คนส่วนใหญ่อาจเข้าใจผิดว่าเป็นไพลิน ทำให้ซื้อมาผิดๆ หรือไม่ก็ซื้อมาในนามของไพลิน ราคาไพลิน แต่เป็นพลอยชนิดอื่น เช่น อาจไปซื้อเอาเพทายสีฟ้า อะความารีน คาลชิโดนีสีฟ้า ทัวร์มาลีนสีน้ำเงิน เป็นต้น
2. ให้ระวังไพลินสังเคราะห์ เนื่องจากมีคุณสมบัติทางกายภาพ และทางแสง เหมือนกับของแท้หมด แถมถ้าเป็นชนิดที่มีมลทินแล้ว มลทินนั้น ยังดูคล้าย ของแท้ เสียอีก สร้างความปวดหัว ให้กับนักตรวจเพชรพลอย ไปตามๆ กัน ดังนั้น ถ้าสงสัย ไม่แน่ใจ ส่งมาเข้าห้องตรวจสอบเพชรพลอยเสียก่อน
3. ให้ระวังไพลินเผา เคลือบสีที่ผิว ซึ่งมักเป็นไพลินสีอ่อน ใสไม่สวย นำมาเคลือบเผา ย้อมสีที่ผิวไพลินเหล่านี้ จะมองเห็นความผิดปกติ ของสี กระจายเป็นหย่อมๆ อยู่ในเนื้อพลอยหรือผิวพลอย

4. ให้ระวังไพลินประกบ อาจจะประกบระหว่างของแท้ กับของแท้ เพื่อให้ได้ขนาดใหญ่ หรือประกบระหว่างไพลินธรรมชาติ กับไพลินสังเคราะห์ โปรดสังเกตว่า มีแนวระนาบแบ่งชั้นพลอยอยู่หรือไม่ ที่ขอบพลอยมีลักษณะของรอยต่อหรือไม่ มองพลอยจากด้านบนแล้ว ไม่ทะลุผ่านถึงก้นพลอยหรือไม่
5. ไพลินที่ผ่านกระบวนการเพิ่มคุณภาพ โดยให้ความร้อน ที่เรียกว่าพลอยเผานั้น ถือว่าเป็นเรื่องปกติ เหมือนกับการนำพลอย มาเจียระไนนั่นเอง
6. สำหรับพลอยสาแหรกนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นสีดำ หรือสีน้ำเงินเทา ให้เลือกดูว่า ดาวมีขาครบ ลักษณะดาวอยู่ตรงกลางพลอย และมีการเจียระไนได้สัดส่วนดี คือมีส่วนก้น ไม่หนาเกินไป (พลอยสาแหรก จะต้องเจียระไนเป็นหลังเบี้ย หรือหลังเต่า เท่านั้น เพื่อให้สามารถเห็นดาวได้ชัดเจน)
ควรซื้อไพลินแบบไหน ?

เมื่อเลือกได้สีที่ถูกใจแล้ว เช่น บางคนอาจชอบสีน้ำเงินเข้มขรึม บางคนอาจชอบสีน้ำเงินอ่อนออกฟ้า บางคนชอบน้ำเงินอมม่วง บางคนชอบน้ำเงินดำ บางคนชอบน้ำเงินอมเขียว จะเลือกสีไหนก็แล้วแต่
เพราะก็ทราบกันแล้วว่า สีคุณภาพที่ดีที่สุด คือสีอะไร แต่ให้พยายามเลือก ไพลินที่มี โทนสีค่อนข้างสว่าง แต่ก็มิใช่สว่างโล่งเกินไป เพราะราคาจะถูกลง แถมยังทำให้ มองดูสวยภายใต้แสงไฟ เพราะมีความสุกใส มีประกายแวววาว ดีกว่าไพลิน ที่มีโทน สีมืด แต่อย่าเลือกไพลินที่มีความเข้ม ของสีน้อยเกินไป คือ ไพลินสีอ่อน เพราะจะมองดู ไม่สวย ไม่ขรึมสง่า เหมือนไพลินที่มีความเข้ม ของสีสูง และขนาดก็ควรจะเลือก ขนาดต่ำกว่า 2 กะรัตลงมา เพราะขนาดใหญ่เพิ่มกว่า 1 กะรัตขึ้นไป ราคาจะแพงขึ้น เป็นเท่าตัวในคุณภาพเดียวกัน ไพลินขนาด 1 กะรัต สีสวยที่ขายอยู่ในตลาด ใส ไร้มลทิน ราคาต่อกะรัตประมาณ 20,000 – 60,000 บาท ก็น่าจะเป็นคุณภาพ ที่เหมาะสม ต่อการเลือกซื้อหามาใช้ ไพลินคุณภาพต่ำ แต่มีการซื้อขายกัน โดยเจียระไน เป็นขนาดเล็กๆ ทำแหวนราคาไม่แพง ราคาต่อกะรัตประมาณ 400 – 500 บาทเท่านั้น
ไพลินคุณภาพต่ำมากราคาต่อกะรัตเพียง 50 – 100 บาทเท่านั้น ยกเว้นไพลินสีสวยล้ำเลิศที่หนึ่ง ราคาต่อกะรัตประมาณ 100,000 – 150,000 บาท

ความเป็นมาของไพลิน Blue Sapphire
Blue Sapphire หรือ ไพลิน มาจากภาษาเปอร์เชีย “Saffir” หรือจากภาษากรีก “Sappheiros” แปลว่า สีน้ำเงิน หรือจากภาษาสันสกฤต “ศนิปฺริย” (ศนิ = พระเสาร์, ปฺริย = ผู้เป็นที่รัก) แปลว่าของมีค่าของเทพแซทเทิร์น (ในเทพปกรณัมโรมัน) อย่างไรก็ตาม ในภาษาสันสกฤตยังมีคำเรียกแซฟไฟร์สีน้ำเงินว่า “อินฺทฺรนีล” หมายถึง “สีน้ำเงินเหมือนพระอินทร์”
ในสมัยอดีตเชื่อกันว่า ไพลินเป็นสัญลักษณ์ของแผ่นดิน สวรรค์ ผู้พิทักษ์ความบริสุทธิ์ ก่อให้เกิดความจริงใจและสัจจะต่อบรรดาผู้ครอบครอง และบ้างก็เชื่อว่า ไพลินเป็นอัญมณีสีน้ำเงินที่สามารถดับไฟและความเร่าร้อนได้ เพราะสีน้ำเงินที่ให้ความรู้สึกมั่นคงนั่นเอง
ไพลินเป็นหินแห่งวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ ทำให้สภาพจิตใจสงบ ความคิดปลอดโปร่ง นอกจากนี้ยังเป็นหินที่ส่งเสริมความสัมพันธ์ของชีวิตรัก ชีวิตครอบครัว เพื่อนฝูง และกับคนทั่วไป มีคุณสมบัติพิเศษ ในการควบคุมตัวเองได้ดี เป็นอัญมณีแห่งสัจธรรม ความดีงาม
เป็นอัญมณีประจำเดือนกันยายน หรือ ราศีกันย์
บางประเทศในทวีปยุโรปนิยมใช้พลอยไพลินเป็นแหวนหมั้น เพราะไพลินเป็นสัญลักษณ์ของความรักที่ลึกซึ้ง มั่นคง ยืนนาน นิรันดร์ และเช่นเดียวกับอัญมณีทรงคุณค่าชนิดอื่น ไพลินก็มีอำนาจช่วยปกป้องให้พ้นจากภยันตรายต่าง ๆ ด้วย ทางด้านการบำบัดรักษาไพลินช่วยบรรเทาโรคหรืออาการทางสมอง โรคที่เกี่ยวกับประสาทและไขสันหลังผิวหนังอักเสบได้ ไพลินถือเป็นพลอยที่ได้รับความนิยมอย่างมาก นิยมกันทั่วโลก
สมัยอาณาจักรเปอร์เซียโบราณ เชื่อว่า โลกถูกปกคลุมด้วยไพลินและมีประกายแสงที่สะท้อนจากสีของท้องฟ้าในยามพระอาทิตย์อัสดงค์ กษัตริย์และราชินีจะสามารถมองเห็นพระประสงค์ของเทพผ่านทางไพลิน บรรดาปุโรหิตแห่งราชสำนักมีความเชื่อว่า ไพลินเป็นสื่อแห่งความเป็นเอกภาพของท้องฟ้าและสวรรค์
ไพลินเป็นอัญมณีในตระกูลคอรันดัม (Corundum) เช่นเดียวกับทับทิม บุษราคัม เขียวส่อง และ แซฟไฟร์สีต่างๆ มีระดับความแข็งเท่ากับ 9 โมส์ โทนสีของไพลินจะมีตั้งแต่สีฟ้าใส น้ำเงิน สีทึบแสง ฟ้าอมม่วง ฟ้าแซมขาว และฟ้าแซมดำ
ไพลินที่มีคุณภาพดีต้องมีสีน้ำเงินสดสม่ำเสมอทั่วทั้งเม็ด สีมีความเข้มมากแต่ต้องไม่เข้มจนดูมืดดำ และต้องมีการเจียระไนที่ดีที่จะทำให้เกิดการหักเหและการสะท้อนแสงภายในส่องเป็นประกายออกมา และที่สำคัญ คือต้องไม่มีตำหนิที่มีสีแตกต่างจากสีของไพลิน หรือเป็นตำหนิที่มองเห็นเด่นชัด
ไพลินคุณภาพต่ำจะมีเนื้อที่ดูขุ่นมัว ทึบตัน หรือสีไม่สม่ำเสมออย่างเห็นได้ชัด มีสีน้ำเงินเข้มจนดำ ไม่มีประกายหรือมีประกายก็น้อยมาก
แหล่งกำเนิด แหล่งทำเหมืองไพลินที่มีชื่อเสียง คือ แคว้นแคชเมียร์ในประเทศอินเดีย เป็นไพลินที่มีสีน้ำเงินสดและมีสีที่อ่อนนุ่มเหมือนผ้ากำมะหยี่ ไพลินพม่า มีคุณภาพสูงใกล้เคียงกับไพลินแคชเมียร์ ไพลินจากศรีลังกาจะมีสีที่อ่อนกว่า และอาจจะมีสีไม่สม่ำเสมอทั่วทั้งเม็ด สำหรับไพลินประเทศไทยและออสเตรเลีย จะพบไพลินที่มีสีเข้มค่อนข้างดำ และอมเขียวเล็กน้อย
ในประเทศพม่าจะเรียกพลอยไพลินว่า “นิหร่า” (นิหร่าเป็นภาษาพม่า และในภาษาไทยบางคนจะเรียกไพลินว่า ” นิลกาฬ” ) แหล่งกำเนิดที่พบได้มากคือเมืองม๊อกก๊ก เอกลักษณ์จะอยู่ที่มี “สาแหรก” ในเนื้อพลอยทำให้เกิด “สตาร์” เวลาเจียรหลังเบี้ยส่องไฟจะเล่นแสงสะท้อนเป็นดาว 6 แฉก มีความแข็งเท่ากับไพลินกาจญบุรีของไทย
แหล่งที่พบไพลินที่สำคัญและได้รับความนิยม
+ แคชเมียร์(Kashmir)
แคชเมียร์อยู่ทางภาคเหนือของอินเดีย เป็นแหล่งกำเนิดซัฟไฟร์น้ำเงินที่สวยที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง มีสีคล้ายสีน้ำเงินดอกข้าวโพด(Cornflower Blue) คล้ายกำมะหยี่สีน้ำเงินอมม่วงซึ่งเป็นที่นิยมกันมากที่สุด แต่พลอยจากแคชเมียร์มีลักษณะขุ่น(Sleepy) ไม่โปร่งใสเท่าที่ควร เพราะมีเส้นไหม(Silks) จำนวนมากเป็นตำหนิอยู่ภายใน ซึ่งผิดกับซัฟไฟร์จากแหล่งอื่นๆ ตามประวัติศาสตร์ ซัฟไฟร์(Sapphire) เริ่มมาจากอินเดีย ถึงแม้ว่าจะมีเหมืองอยู่บ้าง แต่เนื่องจากสิ่งแวดล้อมและสภาวะทางการเมืองทำให้ต้องปิดเหมืองไปในที่สุด
+ พม่า
แหล่งกำเนิดจากแหล่ง เดียวกันกับทับทิมพม่า มีคุณภาพดีมากเพราะมีสีน้ำเงินเข้ม เรียกว่า “รอยัล บูล”(Royal Blue) สีน้ำเงินอมม่วงอ่อนๆ แตกต่างจากพลอยแคชเมียร์ตรงที่พลอยพม่าเมื่อถูกแสงไฟสีจะจางลงเล็กน้อย(เนื่องจากการดูดกลืนแสงของพลอย) ทำให้มีสีขุ่นๆ คล้ายกับน้ำหมึก ถือเป็นพลอยสีสวยแต่หาได้ยาก
+ไทย
ไพลินสีน้ำเงินของไทยมีสีค่อนข้างสวย โดยเฉพาะตรงบริเวณใกล้เขตแดนไทย-เขมร พบพลอยน้ำเงินที่มีคุณภาพคล้ายแคชเมียร์ เรียกว่า “ไพลิน” (Pailin) ส่วนพลอยไพลินที่มาจากกาญจนบุรี อำเภอบ่อพลอยจะมีไพลินที่มีคุณภาพดีเช่นกัน
+ ศรีลังกา
เมืองซีลอน เป็นแหล่งกำเนิดของซัฟไฟร์สีต่างๆ หลายสี ส่วนมากจะเป็นสีน้ำเงินอมเทาอ่อนๆ ถึงน้ำเงินอมม่วง เป็นพลอยที่มีไฟดีมาก ลักษณะเด่นของซัฟไฟร์น้ำเงินจากซีลอน คือมีสีไม่สม่ำเสมอ ตำหนิภายในพลอยส่วนใหญ่จะมีเส้นไหม (Silks) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พลอยออกเทาน้ำเงิน คำว่า “กิวดาซัฟไฟร์” (Gueda Sapphire) คือคอรันดัมดิบจากศรีลังกา มีสีเทา-ขาวและโปร่งใส เมื่อนำไปเผาจะกลายเป็นสีน้ำเงินโปร่งใสสวย
+ มอนทานา
จากโยโกเกาซ์(Yogo Gluch) ส่วนมากจะมีสีอ่อน มักจะเรียกกันว่าสีน้ำเงินไฟฟ้าหรือน้ำเงินแบบเหล็ก(Steel Blue) มีความวาวแบบโลหะ คุณภาพไม่ได้จัดอยู่ในระดับ เพราะพลอยดิบส่วนมากที่ขุดได้จะมีลักษณะชิ้นเล็กๆ เป็นรูปหกเหลี่ยมของผลึกเฮ็กแซกโกนัล(Hexagonal)
+ออสเตรเลีย
ปกติจะมีสีน้ำเงินมืด คล้ายสีน้ำหมึก เป็นสีน้ำเงินอมม่วงมืด ที่ลักษณะเด่นชัด คือ โทนสีมืด มีแถบสี หรือลายสีชัด ส่วนมากพลอยสีมืดจะส่งมาประเทศไทย เพื่อทำการเผาให้สีจางลง
+แอฟริกา
ซัฟไฟร์ที่พบจะมีหลายสี มีสีคล้ายสีดินสอเทียน(Pastel) คือสีน้ำเงินอ่อนๆ น้ำเงินม่วง แดงม่วง เหลืองอ่อน ส้มอ่อน เทา และส้มอมน้ำตาลมืด บางชนิดอาจเปลี่ยนสีคล้ายกับอเล็กซานไดรท์(จากสีน้ำเงิน-เทาในแสงแดดเป็นสีเขียวหรือม่วงในแสงไฟ)
+ กัมพูชา(เขมร)
เขมรเป็นแหล่งที่มีซัฟไฟร์น้ำเงินสวยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก สีน้ำเงินของไพลินเขมรจะคล้ายกับของแคชเมียร์ แต่เนื่องจากเหตุผลทางการเมืองทำให้ไพลินเขมรมีไม่มาก ในตลาดเหมืองที่ขุดไพลินได้ชื่อ “บ่อไพลิน” จึงใช้ชื่อนี้ เรียกพลอนคอรันดัมสีน้ำเงิน ที่มาจากเขมรตามชื่อแหล่ง ตลาดไพลินทีสำคัญคือจังหวัดจันทบุรี เพราะอยู่ใกล้ชายแดนติดกับประเทศเขมร
การดูแลรักษา
ถึงแม้ไพลินจะมีค่าความแข็งอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตามก็ควรต้องระมัดระวังการกระแทกเพราะจะทำให้มีรอยบิ่นแตกได้ การทำความสะอาดด้วยน้ำอุ่นและแปรงขนนุ่ม หลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำเค็ม สารเคมี น้ำหอม และการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิอย่างรวดเร็ว

Showing 1–12 of 30 results

Show sidebar