ไข่มุก (Pearl) เป็นสัญญาลักษณ์ของความบริสุทธิ์ สมัยโบราณเชื่อกันว่าไข่มุกเป็นของที่มีค่าสูงส่งเหมาะสำหรับชนชั้นสูงเท่านั้น ตามนิยายปรัมปราหรือตำนานที่เล่าสืบต่อกันมาเชื่อว่าไข่มุกเป็นหยดน้ำตาแห่งความสุขของเทพธิดาที่หลั่งออกมาให้กับชะตาชีวิตของมนุษย์
ไข่มุกสีขาว เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นเลิศและความมีอุดมคติ ไข่มุกสีดำ เป็นตัวแทนของผู้มีปรัชญา และไข่มุกสีชมพูเป็นตัวแทนของความสวยงาม

ไข่มุกเกิดในเนื้อของหอยมุกซึ่งเป็นหอยสองฝามีทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม ไข่มุกที่เกิดตามธรรมชาติเกิดเนื่องมาจาก ในสภาวะแวดล้อมตามธรรมชาติมีเม็ดทรายขนาดเล็กหรือเศษสิ่งแปลกปลอมขนาดเล็กถูกพัดพาเข้าไปภายในตัวหอยมุกแล้วทำให้ตัวหอยมุกเกิดความระคายเคืองจนหลั่งสารที่เป็นชั้นมุกที่เรียกว่า Nacre ออกมาเคลือบสิ่งแปลกปลอมเหล่านั้น ยิ่งชั้นมุกมีความหนามากไข่มุกก็จะมีความวาวมาก ไข่มุกแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือไข่มุกธรรมชาติ (Natural Pearl) และไข่มุกเลี้ยง (Cultured Pearl) ในกรณีของไข่มุกเลี้ยงน้ำเค็ม สิ่งที่ทำให้เกิดความระคายเคืองในหอยมุกได้แก่ ลูกปัดกลม ๆ (Bead) ที่ทำจากเปลือกหอย (Shell) ส่วนไข่มุกเลี้ยงน้ำจืด จะใช้เนื้อเยื่อจากหอยมุกเอง (Mantle tissue) ใส่เข้าไปแทนลูกปัดเพราะหอยมุกน้ำจืดตัวเล็กกว่าหอยมุกน้ำเค็ม จึงทำให้ไข่มุกเลี้ยงน้ำจืดมีรูปร่างไม่กลมเท่าที่ควรจะไปถึงบิดเบี้ยวเล็กน้อย (Baroque)
โดยปกติมุกจะมีสีขาวเหลือบสีรุ้งเล็กน้อยจนถึงขาวนวล แต่ก็มีสีอื่น ๆ อีกเช่น ชมพู เงิน ครีม ทอง เหลือง เทา และดำ เป็นต้น โดยจะขึ้นอยู่กับชนิดของหอยมุก น้ำ และสภาวะแวดล้อมในบริเวณที่หอยมุกอยู่อาศัย

สมบัติของไข่มุกทางอัญมณี ไข่มุกมีความแข็งประมาณ 2.5 – 3.5 เนื้ออ่อนกว่าแก้วแต่บดให้แตกเป็นผงค่อนข้างยากเนื่องจากมุกมีการจับตัวที่แน่นมาก องค์ประกองทางเคมีส่วนใหญ่เป็น Calcium Cabonate (CaCO3) 80 % ซึ่งปกติจะเป็นแร่ Aragonite, Conchiolin 10 – 14 % และน้ำ 2 – 4 % ไข่มุกมีค่าดัชนีหักเหประมาณ 1.53 – 1.69 ความวาวเป็นความวาวในตัวเองเรียกว่า วาวแบบมุก (Pearly luster) หรือ Orient ไข่มุกเป็นอัญมณีอินทรีย์ การดูแลรักษาจึงควรพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้โดนกรด น้ำหอม สบู่ ครีมทาผิว หรือสเปรย์ใส่ผม เพราะอาจทำให้สีของมุกเปลี่ยนไป

แหล่งมุกที่สำคัญได้แก่ เปอร์เชีย อเมริกากลาง และ ออสเตรเลียเหนือ ส่วนไข่มุกเลี้ยงนั้นมีมากแถบญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เกาะตาฮิติ และเกาะหมู่เกาะอื่น ๆ ในแถบทะเลใต้ โดยปกติไข่มุกเลี้ยงจะมีขนาดโตได้ประมาณ 9 – 15 มิลลิเมตรมีสีเหลือง ทอง ขาว เงิน ดำ เป็นต้น ในประเทศไทยก็มีฟาร์มเลี้ยงมุกในจังหวัดภูเก็ต พังงา ระนอง สุราษฎร์ธานี และกาญจนบุรี

ปัจจุบันเครื่องประดับมุกกลับมาทวงบัลลังก์ความนิยมของสุภาพสตรีกันอีกครั้ง จากการสังเกตในตลาดยุโรปและเอเชีย ซึ่งมีการค้าขายเครื่องประดับมุกมากขึ้น รวมทั้งรูปแบบของเครื่องประดับมุกที่มากขึ้น เนื่องจากย้อนกลับไปไข่มุกมันถูกออกแบบในลักษณะที่เรียบง่าย อาจเป็นการร้อยเป็นสร้อยเส้นยาว หรือทำเป็นหัวแหวนเท่านั้น และมีสีที่ให้เลือกค่อนข้างน้อย แต่ในปัจจุบันดีไซน์เนอร์ได้หันมาใช้สีสันและรูปร่างของมุกที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นมุกทรงบาโรคมุกทะเลใต้ หรือมุกอะโกย่า ผสมผสานกับทองคำ ทองคำขาว และเพชร ทำให้ได้เครื่องประดับหรูหราแบบต่างๆ มากมายโดยเฉพาะมุกที่มีขนาดใหญ่และหลากสีซึ่งขณะนี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก

การกำเนิดของไข่มุกนั้นตามตำนานในคัมภีร์พระเวทบันทึกไว้ว่า ไข่มุกเกิดจากฟันของอสูรวลาฟันเหล่านี้ร่วงหล่นลงมาบนโลกมนุษย์แล้วหลุดเข้าไปอยู่ในเปลือกหอยมุกทำให้เกิดมุกขึ้น

แต่แท้จริงแล้วไข่มุกเกิดจากการที่มีเม็ดทรายหรือสิ่งแปลกปลอมหลุดเข้าไปในตัวหอยมุกทำให้หอยมุกเกิดความระคายเคืองจึงต้องขับ “น้ำมุก” (Narce) ซึ่งประกอบด้วย แคลเซียมคาร์บอเนต (CaCO3) ออกมาเคลือบสิ่งปลอมนั้น น้ำมุกที่หอยมุกขับออกมาทำให้สิ่งแปลกปลอมนั้นมีความแวววาวยิ่งหอยมุกขับน้ำมุกออกมาเคลือบนานเท่าไรสิ่งแปลกปลอมนั้นก็มีความแวววาวและความงดงามมากขึ้นเท่านั้น

ในปัจจุบัน มีมุกเลี้ยงซึ่งเกิดขึ้นโดยการเลียนแบบการเกิดมุกธรรมชาติ นั่นคือใส่แกนของไข่มุกเข้าไปในตัวหอยมุก แล้วนำกลับไปในทะเล และหอยมุกก็จะทำหน้าที่ขับน้ำมุกออกมาเคลือบไปเรื่อยๆ ประมาณครึ่งปี จึงนำหอยมุกกลับขึ้นมา ซึ่งวิธีการเลี้ยงหอยนี้พัฒนาขึ้นโดย โคคิจิ มิกิโตโตะ

มนุษย์เรารู้จักไข่มุกมาเป็นเวลานานแล้วเชื่อกันว่ามีการค้นพบไข่มุกครั้งแรกในบริเวณตะวันออกกลาง ว่ากันว่าพระนางคลีโอพัตราทรงใช้ต่างหูมุกเป็นเครื่องประดับ และมักจะจุ่มต่างหูมุกลงไปในเหล้าองุ่นก่อนดื่มเพราะเชื่อว่าไข่มุกมีพลังช่วยคงความหนุ่มสาวเอาไว้ได้

กวีชาวกรีกนามว่า โฮเมอร์ซึ่งเป็นกวีในยุคเมื่อ 1,200 – 850 ปีก่อนคริสตศักราชได้กล่าวถึงการใช้ไข่มุกเป็นเครื่องประดับของเทพธิดายูโนไว้ในวรรณกรรมของเขา ด้วยหญิงสาวชาวโรมันก็นิยมสวมใส่ไข่มุกเช่นเดียวกัน

ส่วนชาวจีนในสมัยก่อนใช้ไข่มุกเป็นเครื่องบอกยศถาบรรดาศักดิ์อีกด้วย

นอกจากนี้ ไข่มุกเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ ด้วยสีอันนุ่มนวลงดงามของอัญมณีชนิดนี้เมื่อหญิงสาวนำมาใส่จึงช่วยกระตุ้นให้ความเป็นกุลสตรีเด่นชัดขึ้นทำให้เกิดความนุ่มนวลอ่อนหวาน นอกจากนี้ยังเชื่อกันว่าหากวางไข่มุกไว้ใต้หมอนจะช่วยให้คู่สามีภรรยาที่ไม่มีบุตรได้มีบุตรสมหวังทางด้านการบำบัดรักษา ไข่มุกเป็นอัญมณีธาตุน้ำจึงเชื่อกันว่าไข่มุกมีพลังช่วยลดไข้หรือโรคที่เกิดจากความร้อนช่วยบำบัดอาการของคนที่เป็นโรคไต หอบหืด เสมหะ และระบบทางเดินหายใจไม่ปกติ

การดูแลรักษาเครื่องประดับมุก เวลาใช้เราต้องให้ความทนุถนอมมากกว่าเครื่องประดับพลอยชนิดอื่นๆ เนื่องจากมุกเป็นอัญมณีที่เป็นอินทรีย์สาร มีความบอบบางและชำรุดได้ง่ายกว่ามาก จึงต้องอาศัยการดูแลเป็นพิเศษ

ไม่ควรสวมเครื่องประดับมุกก่อนการแต่งหน้าหรือฉีดน้ำหอม
ถอดเครื่องประดับมุกทุกครั้งก่อนทาโลชั่น
เช็ดเครื่องประดับมุกด้วยผ้านิ่มๆที่ไม่มีขน โดยอาจเป็นผ้าแห้งหรือผ้าชุบน้ำหมาดๆก็ได้ ถ้าใช้ผ้าชุบน้ำควรผึ่งเครื่องประดับให้แห้งก่อนเก็บ
หากมุกมีคราบสกปรก ให้ทำความสะอาดด้วยน้ำสบู่ชนิดอ่อนโยน ห้ามใช้น้ำยาทำความสะอาดที่มีส่วนผสมของแอมโมเนีย หรือผงซักฟอก
ไม่ควรใช้เครื่องอัลตราโซนิคในการทำความสะอาดเครื่องประดับมุก
การเก็บรักษาเครื่องประดับมุก ควร แยกเก็บเครื่องประดับมุกไม่ให้ปะปนกับเครื่องประดับชนิดอื่นๆ เพื่อลดโอกาสในการเสียดสีซึ่งจะทำให้ผิวมุกเป็นรอยหรือกระเทาะ ภาชนะที่ใช้เป็นควรเป็นกล่องจิวเวลรี่หรือถุงผ้านิ่มๆที่ไม่สามารถทำให้เกิด รอยขีดข่วนได้

แสดงทั้งหมด 4 ผลลัพท์

Show sidebar