พลอยสตาร์ (Star Sapphires) เป็นแซฟไฟร์ชนิดที่นำมาเจียระไนรูปหลังเบี้ย เมื่อต้องแสงไฟจะมีดาวปรากฎให้เห็นบนพื้นหน้า พลอย บางครั้งพบเห็นในลักษณะรูปดาวมีขาสี่แฉก บ้างก็แลดูเลือนลาง
การเกิดรูปดาวหรือสตาร์ (Star)นั้นเรียก แอสเทอริซึม (Asterism) บ้างก็ว่าเนื่องจากมีสารมลทินแปลกปลอมปะปนกระจัดกระจาย อยู่ภายในผลึกของพลอย ในขณะที่พลอยเกิดผลึกนั้น พวกสารมลทินเหล่านี้มิได้ละลายหลอมตัวเข้าไปในเนื้อพลอย ด้วย แต่เกิดเป็นแร่มลทินแปลกปลอมซึ่งรวมตัวอยู่ต่างหาก ภายในเนื้อพลอย แร่ที่เป็นมลทินแปลกปลอมในลักษณะนี้เรียกว่า อินคลูชัน (Inclusion) แร่เป็นมลทินที่รวมตัวอยู่นี้ จะทำให้ พลอยมีสีมัว หรือมืดทึบกว่าเดิม เมื่อเข้าไปอยู่ในเนื้อพลอย แล้วเกิดรวมตัวเป็นรูปเข็มเล็กๆ วางตัวชี้ไปในทิศทางที่ต่างกัน อาจจะมีเพียง 2 ทิศทาง หรือ 3 ทิศทาง แต่ละกลุ่ม หรือแต่ละทิศทางจะวางตัวในแนวขนาน กับหน้าด้านข้าง ของพลอย บางตำราก็อธิบายไว้ว่าภายในเนื้อพลอย มีท่อ หรือรูกลวงเล็กๆ เหมือนรูปเข็มดังกล่าวมาแล้วข้างต้น บ้างก็กล่าวว่าเป็นพวกแร่รูไทล์ (Rutile) เป็นเส้นตรงยาวๆ วางตัวในแนวทางต่างๆ กัน 3 ทิศทาง วางตัวในแนวพื้นราบ ที่ตัดตั้งฉากกับแนวยาวของผลึกพลอย และมีทิศทางของ แนวยาวนี้ ขนานไปกับเหลี่ยมด้านข้างของผลึก แนวยาว ของผลึกแร่รูไทล์นี้จะตัดกันเป็นมุม 60 องศา
มลทินรูปเข็มหรือแร่รูไทล์ที่วางตัวในทิศทางต่างกันภายใน เนื้อพลอยนั้น เมื่อนำมาเจียระไนหรือขัดมันชนิดรูปโค้งหลังเต่า อันมีผลให้ทำหน้าที่คล้ายเลนส์ (lens) ได้ ช่วยในการดึงภาพ ของสตาร์ให้มองเห็นชัดเจนยิ่งขึ้น หรือถ้าหากยังไม่เจียระไน ใช้น้ำหยดลงไปบนหน้าพลอยดิบ ก็พอจะช่วยให้มองเห็นภาพ ได้ชัดขึ้น ทำให้ทราบหรือสามารถทายว่าพลอยเม็ดไหน จะให้สตาร์หรือไม่
หากแต่ละกลุ่มของรูปเข็มวางตัวชี้ไปในทิศทางที่ต่างกันถึง 3 ทิศทาง ภาพที่ปรากฎจะเกิดเป็นรูปดาว 6 แฉก หรือมีขาหกขา ถ้าวางตัวชี้ไปในทิศทางต่างกันเพียง 2 ทิศทาง ภาพที่ปรากฎ ก็จะเกิดเป็นรูปดาว 4 แฉก หรือมีขา 4 ขา พลอยพวกที่ให้สตาร์ 4 ขา ปกติมีรูปผลึกจัดอยู่ในระบบไอโซเมตริก (Isometric) หรือ เททราโกนาล (Tetragonal) เท่านั้น อีกประการหนึ่ง หากว่า ภายในเนื้อพลอยมีแร่ที่เป็นมลทิน ปะปนอยู่มากเกินไป จะทำให้ เห็นเป็นสีมือทึบ ไม่ปรากฎเป็นสตาร์ หรือถ้าหากมี แร่ที่เป็น มลทินน้อยเกินไปสตาร์ที่ปรากฎก็จะเห็นไม่ชัด (ในการสังเคราะห์พลอยที่จะทำให้เกิดสตาร์นั้นก็ใช้ส่วนประกอบ เหมือนกับพลอยในแต่ลุชนิดนั้น เพียงแต่ใส่ มลทินพวกนี้ลงไป จำนวนปริมาณพอดีๆ (ประมาณ 0.1-0.3 เปอร์เซนต์) ก็จะทำให้เกิดสตาร์ได้)
ในการที่จะตัดเนื้อพลอยเพื่อนำมาเจียระไนให้ได้สตาร์เท่ากันหมด และแหลมคมชัดที่สุดนั้น ไม่ว่าจะตัดจากส่วนใดของผลึกก็ตาม จะต้องเลือกตัดในแนวที่ตั้งฉากกับแนวแกนยาวของพลอยจริงๆ โดยปกติตามธรรมชาติมักจะไม่พบผลึกที่เด่นชัดมีหน้าครบสมบูรณ์ ต้องพยายามสังเกตดู อาจจะใช้รอยแตกแนวราบของพลอย เป็นเครื่องสังเกต ซึ่งเรามักจะพลเห็นแต่เป็นแผ่นหนาเล็กน้อย เลือกตัดพลอยให้ขนานกับแนวนี้ นั่นก็คือตัดตั้งฉากกับแกนยาว ของผลึก (แกน c) ถ้าตัดตั้งฉากได้อย่างแท้จริงแล้ว จะได้สตาร์ ที่มีขาได้สัดส่วนเท่ากันหมดคมสวยไม่ว่าจะเอียงพลอยไป ในทิศทางใด หากเป็นพลอยทับทิมและไพลินมีสตาร์สมบูรณ์แบบ เช่นนี้ราคาแพงมาก ผู้ที่เจียระไนพลอยจึงต้องมีความชำนาญ ในการเลือกตัดในทิศทางที่ถูกต้อง มิฉะนั้นถ้าตัดไม่ตั้งฉากจริงๆ ก็จะได้สตาร์เอียงๆ ทำให้พลอยนั้นมีราคาลดลงไป
การเจียระไนพลอยทับทิมและแซฟไฟร์แบบรูปหลังเบี้ยหรือรูปโค้งหลังเต่านั้น โดยปกติจะกระทำต่อเมื่อพลอยนั้นมีคุณภาพต่ำและมีรอยแตกมาก จะเกิดรูปดาวหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับมลทินและทิศทางการเจียระไน ปกติจะมีราคาต่ำกว่าพลอยที่เจียระไนแบบเหลี่ยม ทั้งนี้ยกเว้นในบางกรณีเท่านั้น ที่พลอยเจียระไนรูปโค้งหลังเต่ามีราคาสูงกว่า เนื่องมาจากสีและปรากฎรูปดาวที่ครบสมบูรณ์แบบสวยงามเป็นพิเศษ
พลอยสตาร์แซฟไฟร์นั้นเรียกกันว่า พลอยแห่งพรหมลิขิต หรือพลอยผู้ดลบันดาลโชคชะตาของมนุษย์เพราะเหตุที่มีแนวตัดกันทำให้เกิดดาว 6 แฉก บนพื้นหน้าพลอยอันหมายถึง ความซื่อสัตย์สุจริต ความหวัง และความเมตตากรุณา
Showing all 3 resultsSorted by latest