เรื่องของพลอยไพลินแท้ แต่สีเทียมนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด มันมีจุดเริ่มต้น มาตั้งแต่สิบกว่าที่แล้วเห็นจะได้ แต่ปริมาณที่ออกมาหยั่งเชิง ตลาดอัญมณีในครั้งนี้ ยังมีไม่มาก พลอยไพลินแท้แต่สีเทียม จึงไม่เป็นที่ระแวดระวังมาก เหมือนเมื่อห้าหกปีที่ผ่านมานี้ ในช่วงดังกล่าว ผู้ผลิตพลอยไพลินแท้ แต่สีเทียม ได้นำผลผลิตจำนวนหนึ่ง ออกสู่ตลาด ทำให้วงการอัญมณี เริ่มตื่นตัวมากขึ้นกว่าที่เคยเป็น
มาถึงจุดนี้ อาจมีคำถามตามมาว่า ทำไมต้องนำพลอยไพลินแท้ มาทำสีเทียมด้วย ทั้งๆ ที่มันก็เป็นพลอยไพลิน แท้อยู่แล้ว แต่ถ้าลองคิดดูอีกที ก็อาจจะตอบได้ว่า สีแท้ของพลอยไพลิน คงไม่น่าชวนมองนัก จึงต้องย้อมแมวขาย เพื่อให้ดูสวยงาม และเตะตามากขึ้น
คนไทยนั้น มีชื่อเสียงในเรื่องของการเผาพลอย มานานแล้ว นับตั้งแต่ศตวรรษที่แล้ว เป็นต้นมา ผู้เผาพลอยคนไทย จึงกำความลับนี้ มาโดยตลอด พลอยไพลินแท้ แต่สีเทียม ที่อาศัยกรรมวิธีการเผาเข้าช่วยนี้ จึงย่อมเป็นสูตรลับสูตรหนึ่ง ของผู้เผาพลอยคนไทยด้วยเหมือนกัน ในช่วงแรกนั้น พลอยไพลินแท้ ที่นำมาทำสีเทียม มักได้มาจากออสเตรเลีย แต่ในช่วงระยะหลังจะได้มาจากศรีลังกาและ มอนทานา สหรัฐอเมริกา
กรรมวิธีการนำ พลอยไพลินแท้ มาทำสีเทียมนี้ เรียกว่า “ดิฟฟิวชัน” ซึ่งมีหลักการอยู่ที่ว่า ถ้านำพลอยไพลินแท้ สีอ่อน และไม่ค่อยใส มาอบที่อุณหภูมิสูงในระดับหนึ่ง แล้วใส่แร่ธาตุบางตัว ที่ทำให้เกิดสีน้ำเงินลงไป ความร้อนจะทำให้โครงสร้าง บริเวณผลึกผิวของ พลอยไพลิน ขยายตัวออก และส่งผลให้แร่ธาตุ ที่ทำให้เกิดสีนั้น แทรกซึมลงไปใต้ผิว พลอยไพลิน ในระดับหนึ่งในช่วงเวลาหนึ่ง ท้ายที่สุด พลอยไพลิน ก็จะมีสีเข้มขึ้น แต่เนื้อที่กระจายของสีนี้ จะบางมาก คือหนาที่สุดไม่เกินครึ่ง มิลลิเมตรเท่านั้น
กรรมวิธีดิฟฟิวชั่นนี้ ต้องเริ่มต้นด้วยการฝัง พลอยไพลิน ไว้ในภาชนะที่มีส่วนผสมของสารอลูมิเนียมออกไซด์ (สารที่เป็นองค์ประกอบของ พลอยไพลินตามธรรมชาติ) และสารไททาเนียมออกไซด์ กับเหล็กออกไซด์ (สารที่ทำให้เกิดสีน้ำเงินใน พลอยไพลิน ตามธรรมชาติ) เสียก่อน ผู้ผลิตคนไทยบางราย อาจเติมธาตุโคบอลท์ ที่เป็นตัวให้สีน้ำเงินลงไปด้วย
ขั้นตอนต่อไป จึงนำภาชนะนั้น ไปเข้าเตาอบที่อุณหภูมิ 1,600 – 1,850 องศาเซลเซียส แต่ดูเหมือนว่า ที่อุณหภูมิระหว่าง 1,700 – 1,800 องศาเซลเซียส และถ้าอุณหภูมิต่ำกว่า 1,600 องศาเซลเซียสแล้ว เวลาในการอบ ก็จะยึดเยื้อออกไป ทำให้ไม่คุ้มทุน แต่ถ้าอุณหภูมิสูงกว่า 1,850 องศาเซลเซียส โดยเฉพาะที่อุณหภูมิใกล้ กับจุดหลอมเหลว ของ พลอยไพลิน (คือที่อุณหภูมิ 2,050 องศาเซลเซียส) ผิวของ พลอยไพลิน จะเกิดรอยไหม้ได้ ในกรณีผลลัพธ์ที่ได้อาจมีเพียง 60% เท่านั้น ฉะนั้นถ้า อุณหภูมิที่ใช้สูงขึ้น โอกาสเสี่ยงก็จะสูงตามไปด้วย
ส่วนระยะเวลาในการอบนั้น อาจสั้นเพียงแค่สองชั่วโมงครึ่ง หรืออาจนานถึงสองร้อยชั่วโมง หรืออาจยึดเยื้อนานถึง สองเดือนก็เป็นไปได้
สำหรับสีที่ได้นั้น จะกินเนื้อที่ลึกลงไปใต้ผิวของ พลอยไพลิน มากน้อยแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิในการอบ เวลาในการอบ และจำนวนครั้ง ของการอบ ถ้าอุณหภูมิสูงขึ้น เวลาในการอบนานขึ้น และจำนวนครั้งของการอบบ่อยครั้งขึ้น โอกาสที่สีจะกระจายลงใต้ผิวของ พลอยไพลิน ก็จะมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม สีที่กระจายลงใต้ผิว พลอยไพลิน เป็นเนื้อที่บางๆ นี้ หากได้รับการขัด เช่น ขัดเพื่อขจัดรอยไหม้ หรือเพื่อเจียระไนใหม่แล้ว ก็อาจจางหายไป ตามปกติ หลังจากการขัดแล้ว มักจะเป็นการกระจายของสี เป็นสองชั้น ชั้นแรกจะอยู่ตื้นกว่า ส่วนชั้นที่สองจะกินเนื้อที่ลึกกว่า ดังนั้น โอกาสที่สีจะกระจายมากชั้นขึ้น จึงขึ้นอยู่กับจำนวนครั้งของการอบด้วย
ส่วนข้อสังเกต ที่จะช่วยบอกว่าเป็น พลอยไพลิน แบบดิฟฟิวชั่นได้นั้น มีอยู่หลายประการ ดังนี้
ประการที่หนึ่ง โดยรอบๆ รอยแตก ช่องว่าง และตำหนิอื่นๆ เช่น ตำหนิขนนก และตำหนิรอยนิ้วมือ จะมีสีเข้ม กว่าบริเวณอื่นๆ และสามารถตรวจสอบได้ ด้วยกล้องจุลทรรศน์
ประการที่สอง สำหรับ พลอยไพลิน แบบดิฟฟิวชั่น ที่ได้รับการขัด หรือเจียระไนใหม่ มักจะเห็นว่าส่วนขอบของพลอย (เกอร์ดิล) เป็นภาพซ้อนกันสองภาพ และอาจพบรอยไหม้ ที่มีลักษณะเป็นจุดๆ ตามขอบพลอยด้วยเช่นกัน
ประการที่สาม แต่ละเหลี่ยม จะมีความเข้มของสีที่แตกต่างกัน ซึ่งเกิดจากการกระจายของสี ไปตามเหลี่ยมต่างๆ อย่างไม่เท่าเทียมกัน โดยเฉพาะหลังจาก เจียระไนแล้ว บางเหลี่ยมอาจไม่มีสีเหลืออยู่เลย
ประการที่ สี่ ตามรอยต่อของแต่ละเหลี่ยม ตามขอบพลอย และตรงก้นพลอย (คิวเลท) จะมีสีเข้มกว่าส่วนอื่นๆ ของพลอย อย่างไรก็ตามหลังการขัดเบาๆ ซ้ำอีกครั้ง สีตรงส่วนของขอบพลอยก็อาจจางหายไป
ประการที่ห้า สีน้ำเงินที่เกิดขึ้นจะกระจายตัวลงใต้ผิวไพลินเพียงตื้นๆ เท่านั้น โดยประมาณแล้วไม่เกินครึ่งมิลลิเมตร
ตำหนิสามประการหลังนี้ สามารถเห็นได้ชัดเจนขึ้น ถ้าจุ่ม พลอยไพลิน แบบดิฟฟิวชั่นนี้ ลงในเมทิลีน ไอโอไดด์ หรือกรีเซอรีน ที่บรรจุอยู่ในภาชนะแล้ว (อิมเมอร์ชัน เซลล์) แล้วใช้แสงไฟ ส่องจากด้านล้างขึ้นมา และวิธีการนี้ ถือว่าเป็นวิธีการที่ดีที่สุด ที่ใช้ในการตรวจสอบ พลอยไพลิน แบบดิฟฟิวชั่น
เป็นสิ่งที่น่าสังเกตว่า ไพลินที่ไม่ได้ผ่านกรรมวิธีดิฟฟิวชั่นมาก่อน แต่ถ้าหากตามรอยต่อ ของเหลี่ยมพลอย เกิดมีรอยขุด หรือรอยลึกอยู่ก่อนแล้ว เมื่อจุ่มลงใน สารละลายเมทิลีน ไอโอไดด์ หรือ กรีเซอรีน แล้ว ก็อาจเห็นรอยต่อระหว่างเหลี่ยม ชัดเจนขึ้นเช่นกัน ในการวิเคราะห์ ซึ่งอาจจะเกิดความสับสนได้ และความเข้าใจผิด ว่าเป็น พลอยไพลิน แบบดิฟฟิวชั่นก็ได้
อีกคำถามหนึ่ง ที่อาจมีตามมาว่า และสีของ พลอยไพลิน แบบดิฟฟิวชั่นนั้น จะคงทนได้สักเพียงใด อันที่จริงแล้ว เวลาเท่านั้นที่จะตอบคำถามนี้ได้ อย่างไรก็ตาม จากการทดลองโดย นักอัญมณีศาสตร์ และนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่ง ที่ไม่จำเป็นต้องใช้เวลานานนัก ก็สามารถค้นหา คำตอบได้ว่า ไพลินแบบดิฟฟิวชั่นนี้ สามารถทนต่อกรรมวิธีทำความสะอาดโดยทั่วๆไปได้ ไม่ว่าจะเป็นการทำความสะอาด โดยใช้เครื่องมือประเภทต่างๆ เช่น อุลตราโซนิค สตีมคลีนนิ่ง หรือแม้กระทั่งการต้ม กับน้ำยาทำความสะอาดที่ใช้ตามครัวเรือนทั่วๆ ไปก็ตาม
ในกรณีที่จะต้องทำการซ่อมแซมเครื่องประดับ พลอยไพลิน แบบดิฟฟิวชั่นนั้น ความร้อนจากไฟ และจากสารเคมี ที่มีส่วนผสมของบอร์แรกซ์ ที่ใช้ขณะทำการซ่อมแซม ก็อาจทำให้ผิวของ พลอยไพลิน เป็นรอยตำหนิได้ ดังนั้น วิธีการที่ดีที่สุด ถ้าต้องการซ่อมแซม เครื่องประดับก็คือ ควรแกะพลอย ออกจากตัวเรือนเสียก่อน
จากการทดลองเดียวกันนี้ ยังทราบอีกว่า พลอยไพลิน แบบดิฟฟิวชั่นนี้ สามารถทนต่อความเย็นจัดถึง -185 องศาเซลเซียสได้ รวมทั้งการชุบเครื่องประดับ พลอยไพลิน แบบดิฟฟิวชั่น ด้วยโรเดียม (หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า ชุบขาว) ก็ไม่ได้ทำให้เกิดผลเสียแต่อย่างใดเช่นกัน
อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า สีของ พลอยไพลิน แบบดิฟฟิวชั่นนี้ มีความคงทนเท่าเทียมกับ สีของไพลินธรรมชาติ เลยทีเดียว แต่ก็มีข้อแม้เพียงข้อเดียวเท่านั้นว่า พลอยไพลิน แบบดิฟฟิวชั่น ดังกล่าวต้องไม่ผ่านการขัด หรือการเจียระไนอีก
ในปัจจุบัน ไม่เพียงแต่ พลอยไพลิน แบบดิฟฟิวชั่นเท่านั้น ที่จะเข้ามาปะปนอยู่ในตลาดอัญมณี ทับทิมแบบดิฟฟิวชั่น ก็ปะปนเข้ามาประปรายบ้างแล้ว แต่ก็ยังมีปริมาณไม่มากเท่ากับไพลิน ทั้งนี้เพราะทับทิม กำลังอยู่ในระหว่างการวิจัย ในอนาคตอันใกล้นี้ จึงเป็นไปได้ว่าพลอยอื่นๆ ในตระกูลเดียวกัน กับไพลิน และทับทิมที่มีสีไม่สวย ก็อาจถูกแปลงโฉม ให้สวยสะดุดตา ได้ไม่ยากเลย
ดูเครื่องประดับพลอยไพลิน https://kitirinjewelry.com/blue-sapphire/
ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.patchra.net/minerals/etc/diffusion.php