Articles

มหัศจรรย์ความงามแห่ง ‘พลอย’ เลือกซื้ออย่างไรถูกใจได้คุณภาพ

เสน่ห์ความงามของ “พลอย” เป็นสิ่งที่น่าค้นหา เพราะมีประวัติมายาวนานหลายพันปี และเป็นที่นิยมในบุคคลชั้นสูง ซึ่งพลอยแต่ละชนิดมีความงามเฉพาะตัวไม่ว่าจะเป็นสี ความบริสุทธิ์ ความส่องประกาย รูปทรง และความแข็งแรง ปัจจุบันอัญมณีอันทรงคุณค่านี้ถูกตกทอดมารุ่นสู่รุ่น หลายคนที่หลงใหลพลอยก็จะยอมจ่ายเงินแพงเพื่อนำมาครอบครอง แต่ควรมีความรู้พื้นฐานในการเลือกซื้อพลอยคุณภาพดีให้คุ้มค่ากับเงินที่สูญเสียไปด้วย

เมื่อไม่นานมานี้ได้มีโอกาสเข้าร่วมงานสัมมนาให้ความรู้เรื่อง “อยากซื้อพลอยต้องดูรู้ ดูเป็น ตามทัน กับสถาบันการศึกษาด้านอัญมณีศาสตร์” หรือ “จีไอเอ” (Gemological Institute of America ; GIA) โดย มร.เคนเนท สคาร์แรทท์ กรรมการผู้จัดการสถาบันอัญมณีศาสตร์แห่งสหรัฐอเมริกา (จีไอเอ) ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและตรวจวิเคราะห์อัญมณี จีไอเอ ประเทศไทย อธิบายว่า จุดประสงค์หลักของการจัดงานสัมมนาครั้งนี้ คือต้องการจะออกหนังสือบุ๊กเล็ต (Booklet) เกี่ยวกับพลอยสีต่าง ๆ เพื่อให้ความรู้เรื่องพลอย เพราะทุกคนรู้เรื่องเพชรอยู่แล้วแต่เรื่องพลอยเป็นอะไรที่ซับซ้อนยากกว่าเพชร เพราะพลอยมีมากมายหลายชนิดถึงแม้ว่าจะหน้าตาคล้ายกันแต่แหล่งที่มา ราคา คุณภาพแตกต่างกัน

จุดประสงค์อีกประการหนึ่ง คือประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าและการผลิตพลอยสีที่ใหญ่ที่สุดในโลก เนื่องจากแหล่งภูมิศาสตร์ของไทยอยู่ติดกับเมียนมา ซึ่งพื้นที่เกือบทั้งหมดของเมียนมามีพลอยชนิดต่าง ๆ มากมาย หรือเวียดนามก็มีแหล่งเหมืองพลอยชั้นดี ไกลออกไปอีกเป็นอัฟกานิสถานเป็นแหล่งเหมืองพลอยมากมาย ทำให้ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิต แหล่งเจียระไน ปรับปรุงคุณภาพพลอย แหล่งขายพลอยที่มีขนาดใหญ่มากที่หนึ่งในโลก

ด้าน ภัทรภูมิ สุดประเสริฐ วิทยากรผู้เชี่ยวชาญเรื่องพลอย ให้ความรู้ว่า เครื่องประดับมีความสำคัญกับมนุษย์มากมีการค้นพบมานานแล้วในประเทศโมร็อกโก ไม่ว่าจะเป็นลูกปัด หิน กระดูกสัตว์ ซึ่งเครื่องประดับในทางอัญมณีศาสตร์จะต้องมีคุณสมบัติหลัก ๆ 3 ประการ ได้แก่ สวยงาม คงทน และหายาก แต่ในตลาดอาจจะระบุเพิ่มว่าอัญมณีต้องพกพาได้สะดวกและเป็นที่นิยม พลอยมีหลายชนิดที่ยิ่งใหญ่และเป็นที่นิยมมาอย่างยาวนาน ได้แก่ ทับทิม ไพลิน มรกต และหยก

เริ่มจาก “ทับทิม” (Ruby) มีความสำคัญกับหลายชนชาติ โดยเฉพาะเมียนมา อินเดีย และไทย เพราะมีพลอยชนิดนี้อยู่เยอะมาก สีแดงของทับทิมหมายถึงพลังอำนาจ ชาวพุทธหรือคนสมัยก่อนเชื่อว่าถ้าทำบุญด้วยทับทิม ชาติหน้าจะได้เกิดเป็นพระมหากษัตริย์หรือชนชั้นรวย สีของทับทิมต้องมีสีแดง ถ้ามีสีอื่นปนราคาจะตกลงไป ซึ่งสีที่ดีที่สุดคือสีแดงสด มีโทนมืดและสว่าง เราเรียกว่า “สีเลือดนกพิราบ” ส่วนใหญ่มาจากประเทศเมียนมา ส่วนทับทิมที่รู้จักกันดีเมื่อ 30- 40 ปีก่อน เรียกว่า ทับทิมสยาม แต่ตอนนี้ในประเทศไทยหมดไปแล้ว

ในทางอัญมณีศาสตร์ทับทิมที่มาจากจันทบุรี หรือพื้นที่อื่น ๆ ในเมืองไทยยังไม่ได้รับราคาสูงสุดในตลาด เพราะสียังไม่สวยที่สุด ยังมีสีแดงอมน้ำตาลอยู่ ในตลาดจึงมีปัญหาในเรื่องของมาตรฐานสีของทับทิม ซึ่งบางคนมองว่าเป็นสีชมพู ทำให้ราคาแตกต่างกันจึงต้องส่งไปตรวจสอบเทียบสีในห้องแล็บ ซึ่งทับทิมธรรมชาติที่ไม่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพนั้นหายาก เพราะส่วนใหญ่ผ่านการเผาด้วยความร้อนอุณหภูมิสูงเพื่อให้ได้สีสวยขึ้น เนื้อพลอยดูใสเนียนขึ้น การปรับปรุงคุณภาพด้วยวิธีนี้ถือเป็นเรื่องปกติ ส่วนทับทิมสังเคราะห์ถูกผลิตด้วยโครงสร้างองค์ประกอบทางเคมีเหมือนทับทิมธรรมชาติมาก บางชนิดยากที่จะแยกได้ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญหรือส่งมาตรวจกับห้องแล็บเพราะราคาจะแตกต่างกันมาก

ไพลิน (Sapphire) เป็นพลอยชนิดเดียวกับทับทิม แต่มีสีน้ำเงินเพราะมีธาตุบางชนิดให้สีแดงและอีกธาตุให้สีน้ำเงินจึงแยกชื่อออกมาเป็นทับทิมกับไพลิน สีที่ดีที่สุดของไพลินคือ มีสีน้ำเงินจัด มีโทนมืดและสว่างเป็นกลาง หากมีสีอื่นปน เช่น สีเขียวปนราคาก็จะตก ซึ่งไพลินมีอยู่เยอะในจันทบุรี เรียกกันว่า “เขียวส่อง” เพราะเวลาขุดขึ้นมาจากเหมืองส่องกับแดดจะเห็นเป็นสีเขียว แต่พอนำไปปรับปรุงคุณภาพจะได้สีน้ำเงินสดออกมาราคาจึงสูงขึ้น นอกจากจะมีมากที่จันทบุรีแล้วยังมีที่กาญจนบุรี แพร่ และสุรินทร์ด้วย ส่วนแหล่งไพลินที่มีคุณภาพสูงอยู่ที่แคชเมียร์ ศรีลังกา มาดากัสการ์ ออสเตรเลีย กัมพูชา และไนจีเรีย

ปกติแล้วไพลินมีตำหนิอยู่บ้างแต่น้อยกว่าทับทิม การปรับ ปรุงคุณภาพโดยทั่วไปนิยมเผาด้วยความร้อนอุณหภูมิสูงเพื่อให้ได้สีสวยงาม การปรับปรุงด้วยวิธีนี้จะอยู่ถาวร ส่วนไพลินสังเคราะห์ ถูกผลิตด้วยโครงสร้างองค์ประกอบทางเคมีเหมือนไพลินธรรมชาติมาก แต่ราคาจะถูกกว่าไพลินธรรมชาติมาก มีจำหน่ายอย่างแพร่หลาย

มรกต (Emerald) มีความสำคัญมายาวนานเช่นกัน ในประเทศ ไทยไม่มีมรกต แต่มีพระแก้วมรกตเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของไทย ซึ่งน้อยคนนักที่จะทราบจริง ๆ ว่าพระแก้วมรกตทำมาจากหยกไม่ใช่มรกต แต่ด้วยความที่เรารู้จักว่ามรกตเป็นพลอยที่มีค่ามากและสีเขียว จึงเรียกว่าพระแก้วมรกต โดยมรกตเริ่มรู้จักกันในช่วงที่อียิปต์มีความเจริญรุ่งเรือง แต่คุณภาพไม่ดี ผลิตสีไม่สวยและมีตำหนิเยอะ ช่วงหลังมีการค้นพบเหมืองใหม่ซึ่งเป็นมรกตที่ดีที่สุดในโลกอยู่ที่โคลัมเบีย จึงเรียกว่า “มรกตโคลัมเบีย” ราคาจะสูงมาก ทำให้มีบางประเทศที่ผลิตมรกตได้แต่ไม่ได้มาจากโคลัมเบียเอาไปหลอกขายว่าเป็นมรกตที่มาจากโคลัมเบียเพื่อให้ได้ราคาสูงแต่ความเป็นจริงไม่มีวันได้ราคานั้นจึงต้องระวังด้วย

สีของมรกตควรเป็นสีเขียวสด ถ้ามีสีน้ำเงินปนราคาจะตกลงไป อีกอย่างมรกตเป็นพลอยที่มีรอยแตกเยอะมากประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นเมื่อขุดได้จากเหมืองจึงนำไปจุ่มน้ำมันเพื่อเติมรอยแตกให้เต็ม แต่การเติมน้ำมันอย่างเดียวไม่ถาวรจึงมีการเติมพลาสติกเข้าไปด้วยเพื่อเพิ่มความแข็งแรง แต่วิธีนี้ยังไม่ได้รับการยอมรับ เราควรสังเกตว่ามรกตของปลอมจะใสกว่ามรกตแท้ที่จะมีรอยด่าง ๆ ดำ ๆ ข้างใน ซึ่งเราสามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า

สุดท้าย หยก (Jadeite) โดย ไพรัช นลินทรางกูร วิทยากรผู้เชี่ยวชาญเรื่องหยก อธิบายว่า หยกเป็นอัญมณีของราชวงศ์จีนมาตั้งแต่เมื่อ 5,000 ปีก่อน ได้รับความนิยมมากที่สุดในเอเชีย ซึ่งหยกเป็นพลอยที่แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ Naphrite และ Jadeite มีหน้าตาคล้ายกัน แต่สีสันและการฟอร์มตัวแตกต่างกัน ซึ่งหยกชนิด Jadeite จะมีราคาสูงกว่ามาก ส่วนหยกชนิด Naphrite เราสามารถเห็นได้ตามท้องตลาด มีการนำมาแกะสลักเป็นรูปมังกร พระพุทธรูป ราคาถูกมาก โดยแหล่งกำเนิดของหยกทั้ง 2 ชนิดนี้มีเหมืองใหญ่อยู่ที่เมียนมา

หากจะซื้อหยกชนิด Jadeite มี 3 อย่างที่ต้องดูคือ 1. สี เรานึกถึงสีเขียวแต่จริง ๆ แล้วมีสีอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น เหลืองขาว ส้มแดง ฟ้าอมม่วง ดำ สีที่มีราคาแพงสุดคือสีเขียว รองลงมาเป็นสีม่วง ส่วนใหญ่นำมาแกะสลักเป็นกำไล จี้ หัวแหวน 2. ความโปร่งแสงของหยก มีตั้งแต่ทึบแสงจนไปถึงใสสามารถให้แสงส่องผ่านได้ดี และ 3. เนื้อหยก เวลาจับหรือมองส่องผ่านแสงจะมีความละเอียด หรือใช้มือลูบจะมีความละเอียด

หยกยิ่งสีเข้มยิ่งมีราคาสูง เช่น เขียวเข้ม ฟ้าอมม่วง ถ้าสีจืดหรือมีสีเทาปนราคาก็ลดหลั่นลงมา ยิ่งสีเท่ากันทั่วทั้งหมดจะยิ่งมีราคาสูงมากขึ้นเท่านั้น แต่ด้วยความเก่งของช่างแกะสลักนิยมเอามาออกแบบให้เกิดความสวยงาม เช่น ทำให้สีด่าง ๆ ดำ ๆ อยู่ในตำแหน่งที่สวยงามได้ ราคาก็สามารถอัพสูงขึ้นมา และหากพูดถึงการปรับปรุงคุณภาพ ถ้าหยกไม่สวยทำให้สวยได้ไม่เป็นไรขอให้คนขายบอกคนซื้ออย่าโกหก ซึ่งวิธีการปรับปรุงคุณภาพหยก มี 3 แบบ คือ 1. การเคลือบ ให้เนื้อดูสวยมากขึ้น 2. การกัดสี มีคราบสีดำ ๆ ด่าง ๆ มากไปก็ใช้น้ำยากัดออกไปและเคลือบ 3. การย้อมให้สีที่สวยงาม

ดังนั้นหากใครหลงใหลพลอยชนิดต่าง ๆ อยากซื้อเพื่อเป็นเครื่องประดับหรือซื้อเก็บไว้ หากเลือกดูด้วยตาเปล่าแล้วยังไม่มั่นใจว่ามีราคาสูงคุ้มกับคุณภาพที่ได้หรือไม่ สามารถส่งไปตรวจยังห้องแล็บที่มีระดับมาตรฐานสากล เชื่อถือได้ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในการซื้อพลอย มีการค้นคว้าวิจัยตรวจสอบที่ได้มาตรฐาน เพราะการมีใบเซอร์ช่วยในการตัดสินใจร่วมกับการที่เราจะเสียเงินจำนวนมากเพื่อซื้อพลอยแล้วต้องให้ได้พลอยที่มีคุณภาพสูงสุดคุ้มกับเงินที่จ่ายไป และสิ่งที่ได้นอกเหนือจากความคุ้มค่าคือประสบการณ์ในการค้นหาความงามของพลอยนั่นเอง

อัญมณีกาญจนบุรี

พลอยเมืองกาญจน์

ข้อมูลจาก : ชญานิษฐ คงเดชศักดา

https://www.dailynews.co.th/article/335046